News

“เงินเฟ้อสหรัฐ-เฟด” แรงกดดันฉุดการลงทุนครึ่งปีแรกผันผวน

บลจ.พรินซิเพิล มองเทรนด์การลงทุนปี 2565 คาดครึ่งปีแรกผันผวนจากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ-เฟด ส่วนช่วงครึ่งหลังแนะลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป เน้นหุ้นกลุ่ม Defensive และ Quality ที่ให้ผลตอบแทนดีในภาวะผันผวน มองตลาดหุ้นไทยและเวียดนามยังไม่แพง จะได้แรงหนุนจากอัตราเติบโตเศรษฐกิจที่เร่งตัวในปีนี้

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 นายศุภกร ตุลยธัญ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด กล่าวในงานสัมมนา Principal Investment Forum 2022: Rising Rates Rising Volatility หัวข้อ CIO’s Perspective on 2022 Outlook ว่า ภาพรวมการลงทุนปี 2565 จะเผชิญกับความผันผวนในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี และคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม อย่างไรก็ตามมองว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับสูง ต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางปีนี้ ก่อนจะเริ่มลดลงในครึ่งปีหลัง และหลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือนมีนาคมและมิถุนายนนี้แล้ว

คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ FED จะเริ่มใช้มาตรการ QT (Quantitative Tightening) หรือการปรับลดขนาดงบดุล จึงไม่น่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งต่อปี ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังมีความผันผวนลดลง ส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ กระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเวียดนามในปัจจุบันถือว่ายังไม่แพง โดยน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากอัตราเติบโตของ GDP ที่เร่งตัวจากปีก่อน

จากปัจจัยดังกล่าวแนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป เลี่ยงการลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นขนาดเล็ก (Small Cap) เนื่องจากสถิติในอดีตพบว่าเมื่อตลาดพันธบัตรผันผวน ตลาดหุ้น Nasdaq ซึ่งเป็นตัวแทนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และ Russell 2000 ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่ม Small Cap มีความผันผวนค่อนข้างสูง ส่วนการลงทุนตลาดตราสารหนี้แนะนำให้ลดอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ในพอร์ตเพื่อป้องกันความเสี่ยง

ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลสินทรัพย์ต่างๆ นับจากปี 1976 ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นและเศรษฐกิจเริ่มเติบโตช้าลง พบว่าดัชนี S&P 500 แม้ให้อัตราผลตอบแทนลดลงแต่ยังเป็นบวกและสูงกว่าผลตอบแทนของดัชนี Dow Jones เล็กน้อย ส่วนหุ้นประเทศอื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ ให้อัตราผลตอบแทนติดลบ นอกจากนี้พบว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต หุ้นกลุ่ม Defensive และหุ้นกลุ่ม Quality ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากลุ่มอื่น

นายชาตรี มีชัยเจริญยิ่ง หัวหน้าการลงทุนฝ่ายตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด กล่าวในหัวข้อ Vietnam is the new Unicorn of Asia ว่า คาดการณ์ปี 2565 GDP ของเวียดนามจะเติบโตสูงถึง 7.2% ฟื้นตัวจากปี 2564 ที่อัตราเติบโต 2.58% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยปัจจุบันเวียดนามได้เร่งฉีดวัคซีนแล้วกว่า 76% ของประชากรทั้งหมด อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัว และงบประมาณพิเศษของภาครัฐคิดเป็น 4.2% ของ GDP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศเวียดนามอยู่ที่ 44% ต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ 60% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 3% โดยที่แนวโน้มอัตราอัตราดอกเบี้ยปีนี้คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เนื่องจากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ตลาดหุ้นเวียดนามถือว่ายังไม่แพง โดยมีค่า P/E Ratio ที่ 14.8 เท่า และประเมินว่ากำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ในปีนี้จะเติบโต 25 – 30% คาดว่ากลุ่มธนาคารจะเป็น sector ที่โดดเด่นในช่วงไตรมาสแรก เพราะสะท้อนปัจจัยลบไปหมดแล้ว

นายวรุณ ทรัพย์ทวีกุล ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
พรินซิเพิล จำกัด กล่าวในหัวข้อ Futuristic Investment Theme ว่าพรินซิเพิลมองว่าธีมการลงทุนแห่งอนาคตที่โดดเด่น ประกอบด้วย 5 ธีมหลัก ได้แก่

1) Automation & Robotic เนื่องจากการการขาดแคลนของประชากรวัยแรงงานและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนและจะมีบทบาทอย่างมากในการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

2) Healthcare Innovation เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ทำให้การใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มสูงขึ้น

3) Millennial Consumer คือกลุ่มคนที่ในปี 1980-2000 จะมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ โดยมีไลฟ์สไตล์ใช้เงินซื้อประสบการณ์ และเป็นกลุ่มสำคัญที่ขับเคลื่อนการบริโภคของโลก

4) Electric Vehicles หรือยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากต้นทุนการผลิต EV ที่มีแนวโน้มลดลงในระดับเดียวกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจากสนับสนุนของภาครัฐ

5) Metaverse ประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น Hardware, Computing, Networking และ Payment Services เป็นต้น โดยมีโอกาสโตจากมูลค่าตลาด 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 เป็น 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2567

ทั้งนี้ กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล อินโนเวชั่น (PRINCIPAL GINNO) ซึ่งเป็นกองทุนรวมประเภท Fund of Funds ที่มีนโยบายการลงทุนในทั้ง 5 ธีมหลักดังกล่าวที่มีความน่าสนใจ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตตาม Global Megatrends และรับประโยชน์จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแนะนำทยอยสะสม Growth Stock หรือหุ้นเติบโตในช่วงกลางปี สำหรับนักลงทุนที่มีเป้าหมายระยะยาว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

You may also like...